30/9/57

“ป้องกัน” ดีกว่า “กำจัด” ยังไง??

การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM)


     ไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีเดียวที่จะป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชได้สำเร็จแน่นอน 100% วิธีการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันแบบผสมผสาน (IPM)
     พืชที่ถูกโรคและแมลงทำลายไปแล้ว แม้จะกำจัดโรคและแมลงนั้นได้ก็ไม่สามารถเรียกส่วนของพืชทถูกทำลายไปแล้วให้กลับคืนมาได้ดังเดิม ดังนั้นวิธี “ป้องกัน” จึงดีกว่า “กำจัด” เพราะพืชยังไม่ได้ถูกทำลาย

หลากหลายวิธีการป้องกันแบบผสมผสาน
1. เขตกรรม หมายถึง การปรับปรุงบำรุงดิน น้ำ อากาศ แสงแดด สภาพแวดล้อม ให้มีความเหมาะสมต่อกาีเจริญเติบโตของพืช การบำรุงให้พืชมีความสมบูรณ์อยู่เสมอจะทำให้พืชเกิดภูมิต้านทานจนสามารถทนต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืชได้
- พืชที่ได้รับซิลิก้า (มีในแกลบดิบ) อย่างสม่ำเสมอ จะมีผนังเซลล์ที่แข็งแกร่ง สามารถต้านทานต่อแมลงปากกัด ปากดูดได้เป็นอย่างดี
- ไม่ใช้ฟูราดานรองก้นหลุม แต่ใช้ใบสะเดาแก่ตากแห้ง ใบมะรุมแก่ตากแห้ง ใบยูคาลิปตัสแก่ตากแห้ง ใบสาบเสือแก่ตากแห้ง หรือกากสมุนไพรหมักคั้นน้ำแล้วตากแห้ง คลุดผสมดินรองก้นหลุม 5-7 วันก่อนลงมือปลูกพืช
- ไม่ใช้ยาฆ่า-ยาคุมหญ้า/วัชพืช แต่ควบคุม/กำจัดด้วยวิธีการถอนหรือตัดให้สั้นแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้คลุมหน้าดิน หรือนำออกไปทำปุ๋ยพืชสด หรือใช้ไม้เรียวเล็ก ๆ ฟาดก้านดอกให้หักเพื่อไม่ให้มีดอกแล้วเกิดเป็นเมล็ดไปขยายพันธุ์ชุดใหม่อีก
- ไม่ใช้ยาฆ่าหอยเชอรี่ (นาข้าว) แต่ใช้วิธีตีเทือกด้วยจอบหมุนโรตารี่หลาย ๆ รอบ ห่างกันรอบละ5-7 วัน ควบคู่กับการกำจัดดอกของหญ้า/วัชพืชไม่ให้เกิดเป็นเมล็ดปลิวลมไปขยายพันธุ์เป็นหญ้า/วัชพืชชุดใหม่ในนาอีก เมื่อไม่มีเมล็ดสำหรับขยายพันธุ์ ต้นแม่ก็จะแก่จัดแล้วค่อย ๆ ตายลงในที่สุด
- ไม่ใช้สารเคมี เพราะละอองสารเคมีที่ปลิวออกไปแล้วตกลงดินจึงทำให้ดินเป็นกรด หรือตกลงไปในน้ำในร่อง เมื่อนำน้ำขึ้นมารดต้นไม้ก็ทำให้ดินเป็นกรดได้เช่นกัน
* สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหอยเชอรี่-ปูนา-หนูนา ฟูราดาน มีสถานะเป็นกรดจัด

2. กับดักกาวเหนียว หมายถึง การใช้กับดักสีเหลืองทาทับด้วยกาวเหนียว เมื่อแมลงกลางวันเห็นสีเหลืองแล้วเข้าไปเล่นสีเหลืองจึงติดกาวเหนียวตายและที่กับดักนี้เมื่อติดแสงไฟสีม่วงเข้าไป แมลงกลางคืนมาเห็นก็จะเข้าไปเล่นแสงไฟแล้วติดกาวเหนียวตายเช่นกัน

3. แสงล่อ หมายถึง การใช้หลอดไฟฟ้าแสงสีม่วงติดตั้งนอกแปลงเกษตร เช่น ในบ่อน้ำ หรือกะละมังใส่น้ำ เมื่อแมลงกลางคืนเข้ามาเห็นก็จะเข้าไปเล่นแสงไฟแล้วตกน้ำตาย หรือใช้วิธีหลอดไฟสีม่วงบนแผ่นสังกะสีที่มีกาวเหนียวทาทับไว้ก่อนแล้ว เมื่อแมลงเข้ามาเล่นแสงไฟก็จะติดกาวกับดัก วิธีการจุดตะเกียงรั้ว แขวนไว้เหนือน้ำใกล้ ๆ นาข้าว สามารถล่อเพลี้ยกระโดดและแมลงศัตรูข้าวให้เข้ามาเล่นแสงตะเกียงแล้วตกลงไปในน้ำได้เช่นกัน

4. แสงไล่ หมายถึง การใช้แสงไฟสีส้ม ติดตั้งริมแปลงหันด้านแสงไฟออกสู่ด้านนอกสวนพี้อมกับมีสิ่งกำบังแสงจากด้านในสวน เมื่อแมลงกลางคืนจากภายนอกเตรียมเข้าสู่สวนเห็นแสงไฟสีส้มก็จะหนีไปเอง

* แสงสีม่วงใช้ได้ผลดีกับแม่ผีเสื้อหนอนเจาะสมอฝ้าย-หนอนกระทู้ดำ-หนอนกอข้าว-หนอนหงอนมันฝรั่ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลีเยจักจั่นสีเขียว แมลงหล่า แมลงบั่ว
  สีเหลือง บนกับดักกาวเหนียวใช้ได้ผลดีมากกับเพลี้ยไฟ ไร แมลงหวี่ขาว

5. ห่อผล หมายถึง การใช้ถุงกระดาษหรือพลาสติกห่อผลเพื่อป้องกันแมลงปากกัดปากดูด แมลงวันทอง และแม่ผีเสื้อเข้าวางไข่
- ใช้ตาข่ายลวดทำเป็นกล่องห่อผลทุเรียนป้องกันกระรอก กระแต
- ก่อนห่อผลให้เช็ดทำความสะอาดผลแล้วฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพรให้เปียกโชก เพื่อกำจัดไข่แม่ผีเสื้อที่แอบมาวางไข่ไว้ก่อนหรือเชื้อราที่อาจติดค้างอยู่

6. ตัวห้ำ-ตัวเบียน หมายถึง แมลงและสัตว์ตามธรรมชาติที่ดำรงชีวิตด้วยการกินไข่หรือตัวแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร

7. ชีววิธี หมายถึง การใช้จุลินทรีย์เชื้อโรคของศัตรูพืชทำลายศัตรูพืช เช่น
- เชื้อบาซิลลัส ซับติลิส เป็นเชื้อโรคทำลายเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัสโรคพืช
- เชื้อไวรัส เอ็นพีวี เป็นเชื้อโรคทำลายหนอน
- เชื้อไตรโคเดอร์ม่า เป็นเชื้อโรคทำลายเชื้อไฟธอปเทอร่า
- เชื้อเมธาไรเซียม เป็นเชื้อโรคทำลายเพลี้ย มวน และด้วง
- เชื้อบิวเวอร์เรีย เป็นเชื้อโรคทำลายเพลี้ย หนอน และแมลง
- เชื้อฮิซูเทลล่า เป็นเชื้อโรคทำลายเพลี้ย หนอน
- เชื้อโมนิไลเลส เป็นเชื้อโรคทำลายหนอน
- เชื้อแกลโนลูซิส เป็นเชื้อโรคทำลายหนอน
- ไส้เดือนฝอยสเตรเนอร์นีม่า เป็นเชื้อโรคทำลายเชื้อโรครากปม แมลง และหนอน

8. ซ้ำที่-ไม่ซ้ำดิน หมายถึง การปลูกพืชพุ่มเตี้ยในถุง ดินในถุงผ่านการกำจัดเชื้อโรคและบ่มด้วยจุลินทรีย์มาแล้วอย่างดี นำถุงไปตั้งไว้ในแปลงปลูกที่เดิมตามปกติ เมื่อดินในถุงเกิดโรคก็ให้รื้อทำลายเฉพาะถุงนั้น เชื้อโรคก็จะไม่แพร่ระบาดไปยังถุงอื่น การเปลี่ยนดินในถุงปลูกทุกครั้งทำให้ไม่เกิดการปลูกซ้ำ (ซ้ำซาก) ที่เดิมจนเกิดการสะสมเชื้อโรคได้
- ใช้วัสดุปลูกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ดิน เช่น ขุยมะพร้าว ทราย แกลบดิบ หมักด้วยอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืช แล้วบรรจุลงถุงก็สามารถใช้ปลูกพืชได้

9. ควันไล่ หมายถึง การสุมควันไฟใต้ทรงพุ่มหรือแปลงปลูกด้านเหนือลมช่วงหัวค่ำหรือตอนที่แมลงกลางคืนเริ่มเข้าทำลายพืช บนกองไฟที่กำลังมีควันอาจจะโปรยสมุนไพรผงหรือกำมะถันเพื่อเพิ่มกลิ่นรบกวนประสาทแมลงก็จะช่วยให้ได้ผลยิ่งขึ้น

10. กลิ่นไล่ หมายถึง การอาศัยกลิ่นระเหยรบกวนระบบประสาทนำทางของแมลงกลางคืนให้เข้าใจผิดหรือเกรงกลัวอันตราย
- ใช้สารเคมีกลิ่นรุนแรง 2-3 หยด ผสมน้ำเล็กน้อยใส่ขวดพลาสติกเจาะรูข้างขวด 2-3 รู แขวนไว้ด้านเหนือลม กลิ่นสารเคมีจะโชยออกมา เมื่อแมลงได้กลิ่นก็จะหนีไป
- แขวนลูกเหม็นกันแมลงสาบหรือถุงการบูรในทรงพุ่มหรือในบริเวณแปลงเกษตร กลิ่นลูกเหม็นหรือการบูรจะโชยออกมา เมื่อแม่ผีเสื้อได้กลิ่นก็จะหนีไปเช่นกัน

11. กลิ่นล่อ หมายถึง การใช้กลิ่นสังเคราะห์หรือกลิ่นธรรมชาติล่อให้แมลงหรือศัตรูพืชที่ชอบกลิ่นนั้นเข้ามาหาและติดกับดักตาย
#สูตรการทำกลิ่นล่อแมลงวันทอง
#กลิ่นล่อหนอนกระทู้
โปรดติดตามในบทความหน้านะคะ :)

12. รสไล่ หมายถึง ใช้น้ำคั้นพืชสมุนไพรที่มีรสขมจัด เผ็ดจัด ร้อนจัด เช่น พริกสด บอระเพ็ด
- ฉีดพ่นที่ผลโดยตรงเมื่อกระรอก กระแต ค้างคาว มากัดกินก็จะได้รับรสขม/เผ็ด/ร้อน แล้วไม่กัดกินอีก
- ฉีดพ่นใส่ต้นข้าวบริเวณโคนกอใกล้ ๆ คันนา เมื่อหนูนากัดต้นข้าวเพื่อให้ต้นล้มแล้วกินรวง พอได้สัมผัสรสขม/เผ็ดก็จะไม่กัดกินอีก

13. เสียงไล่ หมายถึง การทำให้เกิดเสียงดังช่วงที่สัตว์ศัตรูพืชเข้ามาในสวน เช่น
- จุดปะทัด ตีปี๊บ ไล่ค้างคาว กระรอก กระแต
- ใช้ปูนาเป็น ๆ 2-3 ตัว ใส่กะละมังสังกะสีมีน้ำเล็กน้อยเก็บไว้ในยุ้งข้าว เมื่อหนูแอบเข้ามาในยุ้งได้ยินเสียงปูไต่ในกะละมังสังกะสีก็จะหนีไป

...เดี๋ยวจะมาอัพเดทเรื่อย ๆ นะคะ คอยติดตามกันนะคะยังไม่หมดเพียงเท่านี้...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น